การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน
1. การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และหนังสือให้ความยินยอม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ)
1.1 การทำสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ให้ผู้กู้ยืมเงินและสถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง หากมีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินหรือสถานศึกษาดำเนินการผ่านระบบ e-Studentloan ก่อนการจัดพิมพ์
1.2 สัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) จะต้องจัดพิมพ์จากระบบ e-Studentloan ของกองทุนอย่างน้อย 2 ชุด และต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองเท่านั้น โดยลายมือชื่อผู้ให้กู้/ผู้มีอำนาจลงนามของสถานศึกษาต้องเหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนสถานศึกษาที่ส่งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมพร้อมทั้งสำเนาสัญญากู้ยืมโดยรับรองสำเนาส่งให้ผู้ค้ำประกันหนึ่งฉบับ
1.3 ให้สถานศึกษาตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) และเอกสารประกอบให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกฉบับก่อนรวบรวมส่งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม โดยปฏิบัติดังนี้
1.3.1 ตรวจดูชื่อ/นามสกุลผู้กู้ยืมเงิน ตรงกับลายมือชื่อจริง
1.3.2 ตรวจดูการลงรายละเอียดในสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยัน จำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ให้ครบถ้วนถูกต้องทุกช่อง เช่น ชื่อผู้กู้ยืมเงิน ชื่อผู้ค้ำประกัน ฯลฯ
1.3.3 ตรวจเอกสารประกอบสัญญากู้ยืมเงินให้ครบถ้วน โดยให้ลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) เป็นแบบเดียวกับที่ลงลายมือชื่อในเอกสารประกอบต่างๆ
1.3.4 ตรวจสอบให้ผู้ให้กู้ยืม ผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันลงนามในสัญญากู้ยืมเงินให้ครบทุกช่อง พร้อมทั้งลายมือชื่อของพยาน หากผู้กู้ยืมเงินอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมด้วย (ห้ามใช้ตรายางประทับแทนการลงลายมือชื่อ)
1.3.5 หากผู้ค้ำประกันไม่สามารถมาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารสถานศึกษา ให้ตรวจดูว่ามีลายมือชื่อเจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่หรือท้องถิ่น ณ ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน หรือภูมิลำเนาที่ประกอบอาชีพของผู้ค้ำประกันรับรองมาหรือไม่
1.4 เมื่อสถานศึกษาตรวจสอบสัญญา และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ถูกต้อง และครบถ้วนแล้ว ให้สถานศึกษาเข้าระบบ e-Studentloan เพื่อยืนยันความถูกต้องของสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ก่อนนำส่งผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
1.5 ให้สถานศึกษาจัดส่งสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) และเอกสารประกอบที่ลงนามแล้ว ให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมแบบละ 1 ฉบับ และคืนคู่ฉบับทุกแบบให้ผู้กู้ยืมเงินเก็บไว้อย่างละ 1 ฉบับ
1.6 ห้ามมิให้สถานศึกษาเก็บสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ของผู้กู้ยืมเงินไว้ หากต้องการเก็บเป็นหลักฐานให้ถ่ายเอกสารไว้เป็นหลักฐานแทน
1.7 กรณีสัญญากู้ยืมเงิน และหรือแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมจะแจ้งให้สถานศึกษาทราบโดยทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Auto mail) เพื่อให้สถานศึกษาแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อแก้ไขเสร็จสิ้นแล้วให้สถานศึกษาจัดทำใบนำส่งเอกสารเพิ่มเติมจากระบบ e-Studentloan แนบมาพร้อมกับเอกสารที่แก้ไขแล้วส่งให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมดำเนินการต่อไป
- ตัวอย่างสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และหนังสือยิมยอม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
- ตัวอย่างแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ ใช้สำหรับปีการศึกษา 2563
2. การค้ำประกัน
2.1 ผู้ค้ำประกันต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ดังนี้
- บิดา มารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือคู่สมรสหรือ
- บุคคลที่ประกอบอาชีพมีรายได้น่าเชื่อถือตามที่คณะกรรมการพิจารณาให้กู้ยืมประจำสถานศึกษากำหนดให้เป็นผู้ค้ำประกันได้
2.2 แนวปฏิบัติเรื่องการค้ำประกัน มีดังนี้
2.2.1 กรณีที่นักเรียน/นักศึกษา ไม่มีบิดา มารดา ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ให้การยินยอมในการทำนิติกรรมสัญญาและเป็นผู้ค้ำประกัน “ผู้ปกครอง” ได้แก่ ผู้ปกครองตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 กฎกระทรวง ระเบียบที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องผู้ปกครองนักเรียน/นักศึกษา หมายถึง บุคคลซึ่งรับนักเรียน/นักศึกษาไว้ในความปกครอง หรืออุปการะเลี้ยงดู หรือบุคคลที่นักเรียน/นักศึกษาอาศัยอยู่
2.2.2 กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันไม่ยินยอมลงนามให้ความยินยอมค้ำประกัน ให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
2.2.3 กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันมอบอำนาจให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวแทน ให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
2.2.4 ผู้ค้ำประกันไม่สามารถเพิกถอนการค้ำประกันได้ ในระหว่างเวลาที่ผู้กู้ยืมเงินต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงิน
2.2.5 ในการทำสัญญากู้ยืมเงินแต่ละครั้ง ผู้กู้ยืมเงินอาจเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ค้ำประกันคนเดิม
2.3 แนวปฏิบัติเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ค้ำประกัน มีดังนี้
2.3.1 กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินได้มีการทำสัญญาแล้วแต่อยู่ในขั้นตอนสถานศึกษาตรวจสัญญาและผู้บริหารสถานศึกษายังมิได้ลงนามในฐานะผู้ให้กู้ยืม หากผู้กู้ยืมเงินประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกันด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี กรณีนี้ กองทุนอนุญาตให้ผู้กู้ยืมเงินเปลี่ยนแปลงแก้ไขผู้ค้ำประกันได้ โดยการทำสัญญาฉบับใหม่หรือใช้วิธีขีดฆ่าชื่อผู้ค้ำประกันเดิม และระบุชื่อผู้ค้ำประกันคนใหม่แล้ว โดยผู้กู้ยืมเงินลงนามกำกับ และให้ผู้ค้ำประกันคนใหม่ลงชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย
2.3.2 กรณีที่ผู้กู้ยืมเงิน ผู้ค้ำประกัน และผู้ให้กู้ยืม(ผู้บริหารสถานศึกษา) ได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันแล้ว หากผู้กู้ยืมเงินประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันเพราะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี กรณีนี้กองทุนขอให้สถานศึกษาดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาเพื่อให้ผู้ค้ำประกันคนใหม่ และผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะผู้ให้กู้ยืมลงนามในบันทึกข้อตกลง แล้วส่งบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้ธนาคาร
2.3.3 กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินได้รับโอนเงินค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาแล้วไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันได้
3. การจัดทำแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้กำหนดแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ) สำหรับปีการศึกษา 2563โดยแบบลงทะเบียนเรียนดังกล่าว มีช่องลงนามของผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครองเพิ่มขึ้นมา วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครองได้รับทราบถึงการกู้ยืมเงิน ในแต่ละภาคการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ในอำนาจปกครองของตนที่มีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ แต่ในด้านความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครองต่อการกู้ยืมของผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ในอำนาจปกครองได้ให้ความยินยอมไว้แล้วตั้งแต่เริ่มแรกในสัญญากู้ยืม
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสะดวกในการจัดทำแบบลงทะเบียนเรียนดังกล่าวจึงกำหนดแนวปฏิบัติ ในการจัดทำไว้ ดังนี้
3.1 ช่องลงนามของผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครอง
- ไม่บังคับว่าจะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครองลงนาม (จะลงนามหรือไม่ก็ได้)
- หากผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครอง จะลงนาม ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดิมกับบุคคลที่ลงนามในสัญญากู้ยืม โดยให้แนบเฉพาะสำเนาบัตรประชาชนของผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครอง
3.2 ช่องลงนามของพยาน
- หากไม่มีการลงนามโดยผู้แทนโดยชอบธรรม/ผู้ปกครอง ในช่องพยานก็ไม่จำเป็นต้องมีพยานลงนามเช่นกัน
- หากมีพยานลงนาม พยานก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเดิมกับบุคคลที่ลงนามในสัญญากู้ยืม
4. การจัดส่งสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันจำนวนเงินกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ธนาคาร
4.1 ใบนำส่งเอกสารสัญญาระบบ e-Studentloan จะต้องมีลายมือชื่อผู้มีอำนาจของสถานศึกษาพร้อมประทับตราสถานศึกษา(ถ้ามี) โดยใบนำส่งเอกสารสัญญาระบบ e-Studentloan 1 ชุดต่อจำนวนเอกสารไม่เกิน 50 ชุด (50 คน)
4.2 ในสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารประกอบสัญญา และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้อง ลงนามให้ครบถ้วนสมบูรณ์
4.3 เอกสารประกอบสัญญากู้ยืมเงิน มีดังต่อไปนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้กู้ยืมเงิน ผู้ค้ำประกันและผู้แทน โดยชอบธรรม (กรณีไม่เป็นคนเดียวกับผู้ค้ำประกัน) พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์(หน้าแรก) ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
- เอกสารการเปลี่ยนแปลงชื่อสกุล (กรณีเปลี่ยนแปลง) ของผู้กู้ยืมเงิน ผู้ค้ำประกันและผู้แทนโดยชอบธรรม พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
4.4 การลงนามในแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันฯ ของแต่ละภาคเรียนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการจัดทำแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันฯ
4.5 นำเอกสารตามข้อ 6.2-6.4 ที่สถานศึกษาตรวจสอบถูกต้องครบถ้วนแล้ว รวมเป็นชุดต่อหนึ่งคนโดยเรียงลำดับรายชื่อตามใบนำส่งในข้อ 6.1
4.6 สถานศึกษาต้องตรวจความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร พร้อมจัดเรียงและนำส่งไปที่ผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืมตามที่อยู่นี้
- บมจ.ธนาคารกรุงไทย จัดส่งเอกสารไปที่
ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายบริหารโครงการภาครัฐ บมจ. ธนาคารกรุงไทย
อาคารสุขุมวิท เลขที่ 10 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดส่งเอกสารไปที่
ฝ่ายนโยบายรัฐ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
เลขที่ 66 อาคารคิวเฮ้าส์ อโศก ชั้น 12 ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก)
แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
4.7 กรณีที่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องส่งแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันฯ หลายๆ ภาคการศึกษาพร้อมกัน ให้แยกเอกสารแต่ละภาคการศึกษา และใช้ใบนำส่งเอกสารสัญญา (กยศ. 107) ระบบ e-Studentloan แยกชุดกัน
4.8 กรณีธนาคารตรวจพบว่าเอกสารที่สถานศึกษาส่งให้ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ธนาคารจะแจ้งกลับไปยังสถานศึกษาทาง e-mail เพื่อให้สถานศึกษาจัดทำเอกสารฉบับดังกล่าวใหม่ และส่งเอกสารนี้ไปพร้อมกับใบนำส่งเอกสารเพิ่มเติม (กยศ. 107-1) ระบบ e-Studentloan
4.9 หากสถานศึกษามีข้อสงสัย หรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งเอกสารสัญญา ให้ติดต่อสอบถาม บมจ.ธนาคารกรุงไทย ฝ่ายบริหารโครงการภาครัฐ งาน Help Desk เบอร์โทรศัพท์ 0-2208-8699 หรืองานบริหารเอกสารสัญญา เบอร์โทรศัพท์ 0-2208-8605-7 หรือ 0-2208-8636 หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฝ่ายนโยบายรัฐ เบอร์โทรศัพท์ 0-2650-6999 ต่อ 5154-5