Secondary

Languages

ความเป็นมา กรอ.

         

ความเป็นมาของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)

กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ซึ่งได้เห็นชอบหลักการและแนวทางการปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษาโดยมีสาระสำคัญ คือ

1. รัฐเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ลงมือจัดการศึกษาเป็นหลัก มาเป็นผู้สนับสนุน กำกับ ดูแล และกำหนดนโยบายการอุดมศึกษาเป็นหลัก และให้บทบาทในการลงมือจัดการศึกษาเองเป็นรอง
2. ใช้กลไกทางการเงินเป็นเครื่องมือในการปรับประสิทธิภาพการจัดการศึกษา รวมทั้งการดำเนินนโยบายการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการทางสังคมและประเทศ

  ปีการศึกษา 2549 กองทุน กรอ. เริ่มดำเนินการเป็นปีแรก โดยให้นักศึกษาในระดับ ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน
          ปีการศึกษา 2550 รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกกองทุน กรอ. โดยผู้กู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของกองทุน กยศ. ให้เปลี่ยนเป็นผู้กู้กองทุน กยศ. และใช้หลักเกณฑ์การชำระหนี้แบบ กยศ.และผู้กู้กองทุน กรอ. เดิม ที่ไม่มีคุณสมบัติการกู้ยืมแบบ กยศ. สามารถกู้ยืมต่อได้จนจบหลักสูตร
          ปีการศึกษา 2551 รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการกองทุน กรอ. ขึ้นมาใหม่สำหรับผู้กู้ยืมที่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โดยเน้นสาขาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนร่วมกับภาคเอกชนเป็นลำดับแรก
          ปีการศึกษา 2552 รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการกองทุน กรอ. สำหรับผู้กู้ยืมที่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน ซึ่งจะให้กู้ยืมเฉพาะค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา โดยกำหนดนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมไม่เกิน 20,000 ราย และใช้งบประมาณคงเหลือของกองทุน กรอ. ในการดำเนินการ
          ปีการศึกษา 2553 และ 2554 ยังคงให้กู้ยืมกองทุน กรอ. เฉพาะผู้กู้ยืมกองทุน กรอ. รายเดิมต่อเนื่องจนจบหลักสูตร
          ปีการศึกษา 2555 มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ให้ดำเนินการกองทุน กรอ. สำหรับนักเรียน นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า เฉพาะหลักสูตร/สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นนักเรียน/นักศึกษารายใหม่ ที่มิใช่ผู้กู้ยืมรายเก่าของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยกเว้นกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าของ กยศ. ที่เปลี่ยนระดับจาก ม.6 หรือเทียบเท่า และกรณีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีฐานะยากจนมีสิทธิได้รับค่าครองชีพเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สถานศึกษาเรียกเก็บตามกฎหมาย โดยใช้อัตราเดียวกับของ กยศ. พร้อมทั้งให้เร่งจัดทำร่างกฎหมายรองรับการดำเนินการโครงการฯ ในระยะยาว โดยให้ควบรวมกฎหมาย กยศ. เป็นส่วนหนึ่ง และให้มีผลบังคับใช้ภายในปีการศึกษา 2556 ต่อไป

 
          คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ได้มีมติให้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ...  มีผลใช้บังคับในปีการศึกษา 2557 โดยให้ดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคตจนถึง  ปีการศึกษา 2557 โดยให้ใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
 
          คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ลงมติเห็นชอบขยายเวลาการดำเนินงานโครงการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ต่อไปในปีการศึกษา 2558 และในปีการศึกษาต่อๆ ไป จนกว่ากฎหมายใหม่จะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการ ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาร่วมกับฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มีการกู้และส่งคืนเงินอย่างรัดกุม เหมาะสม รวมทั้งไม่เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนในการกู้ยืมและให้นำเรื่องนี้เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการศึกษาที่จะจัดตั้งขึ้นตามแนวทางปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในระยะที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป
 
         ทั้งนี้ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป
 
         เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มีการบริหารจัดการและการดำเนินการที่มีข้อจำกัด และไม่สอดคล้องกับนโยบายการผลิตกำลังคน และการพัฒนาประเทศ จึงได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นการบูรณาการการบริหารจัดการและการดำเนินการของทั้งสองกองทุนดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น