1. นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ | ประธานอนุกรรมการ |
2. ดร.วิจักขณ์ เศรษฐบุตร | อนุกรรมการ |
3. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง | อนุกรรมการ |
4. ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา | เลขานุการ |
5. เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภายใน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา | ผู้ช่วยเลขานุการ |
หน้าที่ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ
1. จัดทำกฎบัตรของคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้สอดคล้องกับขอบเขตความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และมีการสอบทานความเหมาะสมของกฎบัตรดังกล่าวอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
2. สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน กระบวนการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการกำกับดูแลที่ดี รวมถึงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และระบบการรับแจ้งเบาะแส
3. สอบทานให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีการรายงานการเงินอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ
4. สอบทานการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน รวมทั้งข้อกำหนดอื่นของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
5. กำกับดูแลระบบงานตรวจสอบภายในของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีความเป็นอิสระเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานในหน้าที่
6. พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีโอกาสเกิดการทุจริตที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
7. ให้ข้อเสนอแนะการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง และประเมินผลงานของผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายในต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอาจกำหนดให้ผู้จัดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยก็ได้ รวมทั้งพิจารณาร่วมกับผู้จัดการเกี่ยวกับแผนการตรวจสอบ งบประมาณ ทรัพยากรที่ใช้ในการปฏิบัติงานตรวจสอบ โครงสร้างองค์กรของฝ่ายตรวจสอบภายใน อัตรากำลัง และการพิจารณาโยกย้ายผู้ตรวจสอบภายใน
8. ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นชอบเกี่ยวกับผลการตรวจสอบและเรื่องอื่นๆ และอาจเสนอแนะให้สอบทานหรือตรวจสอบรายการใดที่เห็นว่าจำเป็น รวมถึงเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีต่อคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบควรมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารของกองทุน ผู้ตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
9. รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบต่อคณะกรรมการอย่างน้อยปีละสองครั้ง และการรายงานต่อบุคคลภายนอกอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ การรายงานต่อบุคคลภายนอกให้รายงานในรายงานประจำปีของกองทุนหรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกองทุน โดยประธานอนุกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ลงนามในรายงานดังกล่าว และต้องมีเนื้อหาอย่างน้อย ดังนี้
ก. ความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตของกองทุน
ข. ความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการควบคุมภายในด้านการเงิน
ค. จำนวนครั้งในการจัดประชุมของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุม
10. ประเมินผลการปฏิบัติงาน
10.1 การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบต้องดำเนินการอย่างน้อยปีละครั้ง ประกอบด้วย การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบในภาพรวมและการประเมินผลการปฏิบัติงานอนุกรรมการตรวจสอบรายบุคคล และรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการ
10.2 การประเมินผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคของฝ่ายตรวจสอบภายใน รวมทั้ง เสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและศักยภาพของผู้ตรวจสอบภายในของฝ่ายตรวจสอบภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งต่อคณะกรรมการ
11. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดหรือคณะกรรมการมอบหมาย